ศึกษาวิเคราะห์หลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความหมาย ความสำคัญ ประเภท และวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในวรรณกรรมพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาความหมาย รูปแบบและหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานในล้านนา และ 3) เพื่อวิเคราะห์หลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนา บทความวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารผ่านข้อมูลจากพระไตรปิฎก คัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์วิปัสสนากัมมัฏฐานหลวง วัดประตูป่า ข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาวิเคราะห์และนำเสนอด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า คำว่า กัมมัฏฐาน หมายถึง อารมณ์เป็นที่ตั้งในการเจริญภาวนา ที่ตั้งแห่งการทำความเพียรฝึกอบรมจิต หรือวิธีฝึกอบรมจิตในพระพุทธศาสนา ความสำคัญของ กัมมัฏฐาน คือ เป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส แบ่งประเภทออกเป็น 2 อย่าง คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยทั่วไปวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ปรากฏในวรรณกรรมพุทธศาสนา พบว่า มีการปฏิบัติสองแบบคือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ความหมายของกัมมัฏฐานแบบล้าน คือ วิธีฝึกอบรมจิตในรูปแบบของการปฏิบัติกัมมัฏฐานในพุทธศาสนาแบบล้านนา รูปแบบของการปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบล้านนา พบว่ามีรูปแบบเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน เช่น การใช้ลูกประคำและคำภาวนาที่ใช้ภาษาบาลีแบบล้านนาและวิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐาน พบว่า เน้นหนักไปทางสมถกัมมัฏฐานมากกว่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนหลักการนั้นพบว่าเป็นไปตามหลักการเดิมของพระพุทธศาสนา คือ การสิ้นกิเลสความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
เมื่อวิเคราะห์หลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนา เช่น ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค พบว่า รูปแบบในการปฏิบัติมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนหลายประเด็น เช่น อุปกรณ์ในการเจริญภาวนา คำสมาทานก่อนเจริญภาวนา เป็นต้น