การจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ 3 แบบการเรียนรู้เชิงรุกในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ของนักศึกษาสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

Main Article Content

ชดาทิพ ศุภสุวรรณ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ 3 แบบการเรียนรู้เชิงรุก 2) นำเสนอผลการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ 3 แบบการเรียนรู้เชิงรุกในสถานการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและกึ่งทดลอง กลุ่มประชากร คือ นักศึกษาสาขานิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบ แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทางสถิติและวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกโดยใช้ระบบออนไลน์มีขบวนการเลือกเนื้อหาที่มีสาระสำคัญในแต่ละบทเรียนที่ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง โดยมีการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เข้าใจเนื่องจากได้ลงมือปฏิบัติจริง มากกว่าการท่องจำเพียง การเรียนรู้เชิงรุกทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ 3 โดยผู้เรียนมีการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองทั้งก่อนเข้าเรียนและขณะเรียนบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ การฝึกให้ผู้เรียนได้เขียนตอบข้อสอบแบบปัญหาอุทาหรณ์หรือการเขียนตอบข้อสอบแบบ 3 ย่อหน้า 2) รูปแบบการเรียนรู้เชิงลึก โดยมีการวางหลักกฎหมาย วินิจฉัย และสรุป ตามหลักเกณฑ์ของการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายเพื่อใช้ในการสอบกลางภาคและปลายภาคส่งผลโดยตรงต่อคะแนนสอบของผู้เรียนดีขึ้น การรักษาเวลาทั้งผู้เรียนและผู้สอน ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างต่อเนื่องครอบคลุมเนื้อหาในรายวิชาอย่างครบถ้วนและผู้เรียนเกิดความมั่นใจในการใช้ภาษากฎหมายทั้งการพูดโต้ตอบและการเขียน ทำให้ผู้เรียนได้ผลการเรียนรู้ครบทุกด้าน


องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้ ได้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน หากแต่การเรียนการสอนในรายวิชากฎหมายพาณิชย์ธุรกิจ 3 ยังคงจะต้องดำเนินไปและผู้เรียนได้รับความรู้ในเนื้อหาของวิชาอย่างครบถ้วนตามกรอบระยะเวลา โดยผู้สอนได้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ช้องนาง วิพุทานุพงษ์. (2564). การเรียนการสอนกฎหมายในยุคดิจิทัล. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีประทุม. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 20 2566. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/u82Hf

ชาคริต ขันนาโพธิ์. (2556). แนวทางการสอนวิชากฎหมายในชีวิตประจำวันเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 32(4), 110-117

เดวิด คอล์บ. (2559). วงจรการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก http://mededtweet.blogspot.com/2017/05/kolbs-experientiallearning-cycle.html

เพ็ญพนอ พ่วงแพ. (2561). การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับแนวคิด การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมสมรรถนะครูสังคมศึกษา สำหรับนักศึกษาวิชาชีพครู. (รายงานการวิจัย). มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ภัทรา ภูษิตรัตนาวลี, ประทีป จินงี้ และชุลีกร ยิ้มสุด. (2560). รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกสำหรับคณาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้. วารสารเทคโนโลยีภาคใต้, 10(1), 151-158.

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. (2562). ประกาศเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://202.29.37.14/~alc/news.php?n_id=TVRJPQ==