จริยธรรมของผู้เขียนบทความ (Author’s Ethical Responsibilities)

          1. ผู้เขียนบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ต้องเป็นบทความที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนหรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาจากวารสารอื่น
          2. ผู้เขียนบทความจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัย จะต้องไม่ละเมิดสิขสิทธิ์หรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ทางวารสารได้กำหนดความซ้ำซ้อนของผลงาน โดยใช้โปรแกรม CopyCatch เว็บ Thaijo โดยทางวารสารได้กำหนดค่าไว้ในระดับไม่เกิน 25%
          3. ผู้เขียนบทความต้องยึดรูปแบบการเขียนบทความตามรูปแบบวารสารอย่างเคร่งครัด ในหัวข้อ “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” หรือ “Author Guidelines” อันจะนำไปสู่บทความที่มีรูปแบบการตีพิมพ์ที่ได้มาตรฐานเดียวกัน 
          4. ผู้เขียนบทความต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัย/รวบรวมข้อมูล โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และปราศจากอคติในทุกขั้นตอนการทำวิจัย
          5. ผู้เขียนบทความต้องปรับแก้ไขผลงานตามคำแนะนำหรือตามผลการประเมินจากกองบรรณาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น หากไม่แก้ไขตามคำแนะนำทางวารสารจะขอสงวนสิทธิ์ไม่ตีพิมพ์บทความของท่าน
          6. ผู้เขียนบทความหากเอาผลงาน เอกสาร ภาพ ตาราง หรือโมเดล หากมีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยให้ระบุ “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น)
          7. ผู้เขียนจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล/ผลงาน ที่นำมาใช้ประกอบการเขียนบทความอย่างถูกต้อง ครบถ้วนทั้งการอ้างอิงในเนื้อหา (Citation in-text) และรายการเอกสารอ้างอิง (Reference) ท้ายบทความ ตามหลักการอ้างอิงผลงาน (วารสารสังคมศาสตร์และศาสตร์ร่วมสมัย ใช้ระบบ APA 6)
          8. ผู้เขียนบทความ ถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำการทดลองในคนหรือสัตว์ ผู้เขียนต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนหรือสัตว์เสียก่อน และต้องมีการระบุไว้ในบทความด้วย
 

จริยธรรมของบรรณาธิการวารสาร (Editor’s Ethical Responsibilities)

          1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ โดยพิจารณาความสอดคล้องของเนื้อหาบทความกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร รวมถึงตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์
          2. บรรณาธิการต้องกำกับติดตามดูแล และดำเนินการอย่างเหมาะสมกับผู้เขียนหรือบทความที่ตรวจพบว่ามีการกระทำผิดด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณ เช่น การละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง โดยทางวารสารใช้โปรแกรม CopyCatch เว็บ Thaijo ได้กำหนดค่าไว้ในระดับ ไม่เกิน 25% 
          3. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
          4. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ ซึ่งวารสารได้กำหนดในลักษณะปกปิดรายชื่อ (Double blind peer-reviewed) และต้องมีความรับผิดชอบในการรักษาข้อมูลได้เป็นอย่างดี
          5. บรรณาธิการจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน และผู้ประเมิน โดยเด็ดขาด เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมาภิบาลในการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
          6. บรรณาธิการจะต้องพิจารณาบทความโดยใช้หลักการทางวิชาการ โดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียน ทั้งในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียน
          7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด เพื่อกระบวนการบริหารจัดการวารสารให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
          8. บรรณาธิการมีหน้าที่สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสาขาของบทความ เพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณภาพของบทความ ในกรณีที่เห็นสมควรให้นำบทความนั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความ
 

จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ (Reviewer’s Ethical Responsibilities)

          1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ได้รับการพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาการประเมินบทความ รวมถึงหลังจากที่พิจารณาประเมินบทความเสร็จแล้ว
          2. ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าบทความที่ได้รับการประเมินตนเองมีความความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญตรงกับศาสตร์ของตนอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่ถนัดและเชี่ยวชาญ ควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที รวมทั้งผู้ประเมินต้องรักษาระยะเวลาการประเมินตามกรอบเวลาที่ทางวารสารกำหนดไว้ 
          3. ผู้ประเมินบทความไม่นำเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตนเองประเมินมาเป็นผลงานของตนเองโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของบทความหรือจากวารสาร
          4. ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณ พิจารณาบทความภายใต้หลักการทางวิชาการ โดยปราศจากอคติหรือความลำเอียง ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง อุดมคติ สังกัดของผู้เขียน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน
          5. ผู้ประเมินบทความหากพบว่าบทความ หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความมีความซ้ำซ้อนกับบทความของผู้อื่น ผู้ประเมินบทความจะต้องแจ้งแก่บรรณาธิการให้ทราบ