แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1
Guidelines for the Development of Innovative Leadership of Administrators under Chaiyaphum Primary Educational Service Area Office 1
คำสำคัญ:
แนวทางการพัฒนา ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม ผู้บริหารสถานศึกษาบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา 2) เปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามขนาดสถานศึกษา และ 3) หาแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 123 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามและ แบบสัมภาษณ์ โดยแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.962 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t ส่วนแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
- 1. ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ด้านการสร้างบรรยากาศองค์กรนวัตกรรม ด้านการทำงานเป็นทีมและมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการคิดสร้างสรรค์ และด้านการมีวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลง ตามลำดับ
- 2. ผลการเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามขนาดสถานศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน โดยภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษาขนาดกลาง
และขนาดใหญ่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้บริหารสถานศึกษาขนาดเล็ก
- 3. แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่บุคลากร และมีกระบวนการในการสร้างให้ครู เป็นบุคคลแห่ง การเรียนรู้ สร้างความเข้าใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กำลังใจ สามารถโน้มน้าวและจูงใจบุคลากรในการร่วมมือปฏิบัติงานจากบุคลากรในหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดการสร้างทีมงานที่มีคุณภาพ ควรเปิดโอกาสให้บุคลากร มีอิสระด้านความคิดและส่งเสริมสนับสนุนให้ได้รับการพัฒนาตนเอง เปิดโอกาสให้บุคลากรการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมาย ควรตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ