ภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา
Leadership in the digital age of educational institution administrators Under the jurisdiction of the Nakhon Ratchasima Secondary Educational Service Area Office
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำ, ภาวะผู้นำยุคดิจิทัล, ผู้บริหารสถานศึกษาบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา 2) เปรียบเทียบภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาตามความคิดเห็นของครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา 3) ศึกษาแนวทางในการส่งเสริมภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา จำแนกตามระดับการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และขนาดสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ปีการศึกษา 2566 จำนวน 351 คน กำหนดขนาดโดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน และได้โดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามแบบแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.98 แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80 – 1.00 สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test)
ผลการวิจัยพบว่า
- ภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการติดต่อสื่อสาร รองลงมาคือ ด้านความรู้ทักษะดิจิทัล และด้านการมีวิสัยทัศน์ดิจิทัล และด้านกลยุทธ์ดิจิทัล ตามลำดับ ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จัดการเรียนการสอนและบริหารงานวิชาการ
- ภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา จำแนกตามระดับการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และขนาดของสถานศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน
- ผลการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำยุคดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ 2) ด้านกลยุทธ์ดิจิทัล 3) ด้านความรู้ทักษะดิจิทัล 4) ด้านการมีวิสัยทัศน์ดิจิทัล 5) ด้านการติดต่อสื่อสาร