การบริหารการศึกษาตามหลักพรหมวิหารของผู้บริหารโรงเรียน
พระมหากฤติพิสิฐ กิตฺติธมฺโม (จ่าพันธ์)
คำสำคัญ:
การบริหารการศึกษา, หลักพรหมวิหาร, ผู้บริหารโรงเรียนบทคัดย่อ
การบริหารการศึกษาตามหลักพรหมวิหารของผู้บริหารโรงเรียน เป็นการบริหารที่ทำให้เกิดความสมดุลในหน่วยงาน และทำให้ผู้บริหาร ครูนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความมั่นใจในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียน จึงถือได้ว่าหลักพรหมวิหาร เป็นแนวคิดที่สามารถผลักดันให้โรงเรียนสามารถบรรลุเป้าประสงค์ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับประเทศ โดยการดำเนินงานของกลุ่มบุคคล เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพความรู้ทั้งความคิด ความสามารถและความเป็นคนดี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนในฐานะที่เป็นนิติบุคคล หลักพรหมวิหาร ประกอบด้วย 1) เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีสุขมีจิตอันแผ่จิตที่ดีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั้งหลาย 2) กรุณา คือความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์มากและยากเดือดร้อน 3) มุทิตา ความยินดีในเมื่อผู้อื่นเมื่อได้ดีอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ด้วยอาการแช่มชื่นและเบิกบานอยู่เสมอต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุขที่ดีและพลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น 4) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางในทุกเรื่อง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยในปัญญาการอาจจะบูรณาการในด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ซึ่งเป้าหมายในการจัดการศึกษาในการพัฒนาคนต้องพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพนั้นก็เพื่อให้เป็นคนที่มีความรู้ และมีจิตที่ดีงาม และยังทำให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาคนตามหลักพรหมวิหาร อันจะทำให้ประเทศชาติมีประชากรที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน