ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดแมลงทางการค้าในรูปแบบเหยื่อพิษต่อแมลงสาบเยอรมัน (Blattodea: Ectobiidae) และแมลงสาบเฟอร์นิเจอร์ (Dictyoptera: Blattellidae)

Authors

  • นภวรรณ ศรีมี ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Abstract

แมลงสาบเยอรมัน (Blattella germanica) และแมลงสาบเฟอร์นิเจอร์ (Supella longipalpa) จัดเป็นแมลงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ การใช้สารเคมีเป็นวิธีที่นิยมในการป้องกันกำจัดแมลงสาบ แต่การใช้สารเคมีภายในบ้านเรือนอาจทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมี ดังนั้นสารเคมีในรูปแบบเหยื่อพิษจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดการตกค้างของสารเคมี การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีในรูปแบบเหยื่อพิษ; 0.05% ฟิโพรนิล (MF) 2.15% อิมิดาคลอพริด (MS) 0.6% อินดอกซาคาร์บ (AV) 0.5% ไดโนทีฟูแรน (SC) และ 0.5% โคลไทอะนิดิน และ 0.5% ไพรริพรอกซี่เฟน (VN) ทดสอบกับแมลงสาบเยอรมันจากภาคสนาม 2 ประชากรคือ เพชรเกษม (PK) และสีลม (SL) เปรียบเทียบกับแมลงสาบเยอรมันจากห้องปฏิบัติการ (DMSC) แมลงสาบเฟอร์นิเจอร์จากภาคสนาม 3 ประชากร คือ คอนโดมิเนียม (CO) หอพัก (DO) และบ้านพักอาศัย (HO) จากผลการทดสอบพบว่า เหยื่อพิษอิมิดาคลอพริด (MS) และอินดอกซาคาร์บ (AV) มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงสาบเยอรมันจากภาคสนาม ในขณะที่เหยื่อพิษอิมิดาคลอพริด (MS) ไดโนทีฟูแรน (SC) และโคลไทอะนิดินและไพริพรอกซี่เฟน (VN) มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงสาบเฟอร์นิเจอร์ เหยื่อพิษที่มีสารออกฤทธิ์ต่างชนิดกันมีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงสาบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเหยื่อพิษอิมิดาคลอพริดสามารถควบคุมประชากรแมลงสาบทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Downloads

Published

2024-05-17