การจำลองข้อมูลเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการจัดลำดับการผลิต: กรณีศึกษาโรงงานเชื่อมและประกอบโลหะ

Authors

  • อรรถพล ว่องกสิกิจ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา

Keywords:

การผลิตแบบไหลเลื่อน, เวลาผลิตรวม, การจัดรูปแบบลำดับการผลิต

Abstract

บทความนี้นำเสนอวิธีการจำลองข้อมูลเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการจัดลำดับการผลิตสำหรับโรงงานเชื่อมและประกอบโลหะ ปัญหาการจัดลำดับการผลิตในโรงงานแห่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเวลาการผลิตชิ้นงานซึ่งอาจกระทบต่อการทำงานให้เสร็จทันกับวันส่งมอบชิ้นงานให้กับลูกค้า ปัจจุบันทางโรงงานที่ผู้วิจัยใช้เป็นกรณีศึกษาไม่มีเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยตัดสินใจในการจัดลำดับการผลิตให้สอดคล้องกับวันส่งมอบ โรงงานแห่งนี้ผลิตชิ้นงานอยู่ 9 รุ่น ซึ่งมีระบบการผลิตแบบไหลเลื่อนไปตามสถานีงานต่างๆ โดยมีสถานีงานทั้งหมดจำนวน 22 สถานี โดยชิ้นงานทั้ง 9 รุ่นจะมีลำดับกระบวนการผลิตและเวลาที่ใช้ในการผลิตบนสถานีงานที่ไม่เท่ากัน วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อค้นหาการจัดรูปแบบลำดับการผลิตที่ให้เวลาผลิตรวมที่น้อยที่สุดของเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ของชุดการผลิตที่มีการผสมกันของชิ้นงาน (Mixed Model Production) เพื่อนำรูปแบบที่ได้จากการจำลองเหตุการณ์ไปเป็นแนวทางในการจัดวางลำดับการผลิตโดยใช้วิธีการจำลองข้อมูลเพื่อวิเคราะห์รูปแบบที่เป็นไปได้ ผลการทดสอบประสิทธิภาพของวิธีที่นำเสนอเปรียบเทียบกับวิธีการจัดลำดับการผลิตที่โรงงานใช้อยู่เดิมในระยะเวลา 1 เดือน พบว่า วิธีการที่นำเสนอสามารถหารูปแบบการจัดลำดับการผลิตที่ใช้เวลาการผลิตลดลง 5,688 นาที ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การประหยัดเวลาลงได้ 8.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการจัดลำดับการผลิตแบบเดิม งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากเทคนิคการจำลองข้อมูลในการจัดลำดับในสำหรับกระบวนการผลิตของโรงงานเชื่อมและประกอบโลหะ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการและการส่งมอบงานให้ลูกค้า

Downloads

Published

2023-10-27