แรงจูงใจทางการเงิน ทัศนคติทางการเงิน และกลุ่มอ้างอิง ที่ส่งผลต่อ การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ: กรณีศึกษา กลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน วัยสร้างฐานะ และวัยใกล้เกษียณ

Authors

  • สกุลรัตน์ เมืองมา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Keywords:

การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ, แรงจูงใจทางการเงิน, ทัศนคติทางการเงิน, กลุ่มอ้างอิง

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ จำแนกตามปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ และเพื่อศึกษาอิทธิพลของแรงจูงใจทางการเงิน ทัศนคติทางการเงิน และกลุ่มอ้างอิง ที่ส่งผลต่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ของกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน วัยสร้างฐานะ และวัยใกล้เกษียณ โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ วัยทำงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อายุช่วง 25-59 ปี จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยแบบอิสระ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่าการทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบ t และการวิเคราะห์ความแปรปรวน จำแนกตามปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ที่แตกต่างกัน มีระดับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สถานภาพ อาชีพ ระยะเวลาในการทำงาน ไม่มีระดับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ พบว่า แรงจูงใจทางการเงิน ทัศนคติทางการเงิน กลุ่มอ้างอิง สามารถทำนายการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณในวัยเริ่มต้นทำงาน ได้ร้อยละ 58.2 วัยสร้างฐานะได้ร้อยละ 66.5 และวัยใกล้เกษียณ ได้ร้อยละ 61.6 โดยตัวแปรแรงจูงใจทางการเงินนั้นเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่ม วัยเริ่มต้นทำงาน (Beta = 0.41) วัยเริ่มต้นทำงาน และวัยใกล้เกษียณ (Beta = 0.65) ในขณะที่วัยสร้างฐานะ พบว่า กลุ่มอ้างอิง เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ (Beta = 0.37)

Downloads

Published

2023-05-22