สภาพการทำงานและผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช

Authors

  • สุวรรณา แซ่อุ้ย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Keywords:

สภาพการทำงาน, ผลกระทบสุขภาพ, เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, โควิด 19

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการทำงาน และพฤติกรรมป้องกันโรคในการทำงาน รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 417 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและเพียร์สันไคสแควร์ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.9 เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด 19 การสัมผัสสิ่งคุกคามจากสภาพการทำงาน พบว่าร้อยละ 5.8 มีโอกาสสัมผัสสิ่งคุกคามบางครั้งถึงประจำ ได้แก่ การทำงานในสภาพร่างกายที่เมื่อยล้า ทำงานในที่มีอุณหภูมิสูงหรือได้รับความร้อนจากแสงแดด ยืนหรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน ได้รับแรงกดดันจากผู้ป่วยหรือญาติ และทำงานติดต่อกันเกิน 5 วัน โดยร้อยละ 86.4 มีพฤติกรรมการป้องกันโรคขณะปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี สำหรับผลกระทบสุขภาพจากการทำงาน พบว่าร้อยละ 17 เกิดอาการบ่อยครั้งถึงประจำได้แก่ อ่อนเพลีย มีอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งระคายเคืองตา ไอ จาม แสบจมูก โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส การมีโรคประจำตัว ประวัติการติดเชื้อโควิด 19 ตำแหน่งงาน และการสัมผัสสิ่งคุกคามจากการทำงาน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับพื้นที่ควรจัดทำรูปแบบการทำงานและดูแลสุขภาพของบุคลากรให้เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเป็นระยะเวลานานต่อไป

Downloads

Published

2023-05-22