การประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว

Main Article Content

ดรุณี โอวจริยาพิทักษ์
จารุทัศน์ ศิลาสุวรรณ
ปัญญา ทักท้วง

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว และความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว โดยศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว ออกแบบร่างความคิดพานพุ่มจากใบบัวจำนวน 1 รูปแบบ และออกแบบร่างความคิด ลวดลายตัวพุ่ม มาลัยตุ้มตกแต่งยอดพุ่ม มาลัยตกแต่งพานพุ่ม และอุบะตกแต่งพานพุ่ม ชนิดละ 3 รูปแบบ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสม จากนั้นนำรูปแบบที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นชอบมากที่สุด มาประดิษฐ์เป็นพานพุ่มจากใบบัว นำผลิตภัณฑ์ไปสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 50 คน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัย พบว่า 1. ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เลือกพุ่มลายตาประชุม ลายคดกริชและลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โดยให้เหตุผลว่าเป็นลวดลายที่มีการสับหว่างของกลีบแต่ละชั้นได้ชัดเจนสวยงาม และลวดลายเหมาะสมกับสัดส่วนรูปทรงของชิ้นงาน เลือกมาลัยตุ้มแบบมีลายตกแต่งยอดพุ่ม โดยให้เหตุผลว่าเป็นมาลัยตุ้มที่มีรูปทรงสวยงามและมีความละเอียดประณีต เลือกมาลัยแบนลายขนมเปียกปูนสอดไส้ โดยให้เหตุผลว่ามาลัยมีลวดลายขนาดเล็ก มีพื้นที่ของกลีบดอกมากทำให้มาลัยไม่โดดเด่นแข่งกับลวดลายพุ่ม และเลือกอุบะพู่ตกแต่งพานพุ่ม โดยให้เหตุผลว่าเป็นอุบะที่ดูมีมิติ สวยงาม 2. ความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการประดิษฐ์พานพุ่มจากใบบัว พบว่า ด้านการย้อมสีใบบัวให้เสมือนสีธรรมชาติ กลุ่มเป้าหมายพึงพอใจในสีกลีบดอกเฟื่องฟ้าบานเย็น อยู่ในระดับมากที่สุดที่ค่าเฉลี่ย 4.80 ด้านยอดพุ่ม พึงพอใจในลวดลาย อยู่ในระดับมากที่สุด ที่ค่าเฉลี่ย 4.40 ด้านตัวพุ่ม พึงพอใจในลวดลายและรูปทรง อยู่ในระดับมากที่สุด ที่ค่าเฉลี่ย 4.80 ด้านส่วนตกแต่ง พึงพอใจในมาลัยแบนลายขนมเปียกปูนสอดไส้ อยู่ในระดับมากที่สุด ที่ค่าเฉลี่ย 4.72 ด้านผลิตภัณฑ์ พึงพอใจในความประณีต อยู่ในระดับมากที่สุด ที่ค่าเฉลี่ย 4.78

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จันทนา สุวรรณมาลี. 2539. การจัดพาน (ดอกไม้สด). กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.

ปิยะธิดา สีหะวัฒนกุล และอนุสรณ์ ใจทน. 2556. การศึกษากระบวนการย้อมสีใบตองแห้งด้วยสีธรรมชาติ และสีวิทยาศาสตร์เพื่องานศิลปะประดิษฐ์. คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.

ภูรินทร์ อัครกุลธร. 2555. เสก“บัว”เป็นทองส่งออก 1,000 ล้านรอวันโต. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : https://www.rmutt.ac.th/content/21726, 23 ธันวาคม 2562.

รัตนลักษณ์ ปัญจวุฒิพัฒน์. 2547. งานดอกไม้สดในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพมหานคร : เศรษฐศิลป์.

วีระประวัติ ตรีสุวรรณ และภวพล ศุภนันทนานนท์. 2561. บัว water lilies and lotuses. กรุงเทพมหานคร : บ้านและสวน.

สุภา จุฬคุปต์. 2558. การพัฒนากระดาษใบบัวอัดแห้งสำหรับใช้ในงานประดิษฐ์. สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

อภิรัติ โสฬศ. 2548. ศิลปะการจัดดอกไม้แบบไทย. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.