คำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงซึ่งในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองนั้น : มุมมองกฎหมายต่างประเทศ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีคำสั่งที่สืบเนื่องจากการสอบแข่งขัน
Main Article Content
บทคัดย่อ
แนวคิดเรื่องคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาผ่านข้อความคิดทางทฤษฎี กฎหมาย และคำพิพากษาของศาลของบางประเทศในยุโรปมานานแล้ว โดยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐโปรตุเกส และราชอาณาจักรสเปน บัญญัติรับรองแนวคิดเรื่องคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะไว้อย่างชัดแจ้งในกฎหมาย โดยบัญญัติเป็นการทั่วไปว่าคำสั่งทางปกครองเป็นโมฆะหากมีความบกพร่องในลักษณะที่ร้ายแรงและชัดแจ้ง และบัญญัติกรณีเฉพาะที่เป็นเหตุทำให้เป็นโมฆะ ในขณะที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส แม้จะไม่มีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมาย และไม่ได้ใช้คำว่า คำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะ แต่ก็มีทฤษฎีนิติกรรมทางปกครองที่ไม่มีอยู่ในทางกฎหมายที่ได้รับการพัฒนาโดยสภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุด โดยสภาแห่งรัฐจะพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่า คำสั่งทางปกครองที่มีความบกพร่องอย่างใดจึงจะถือว่าเป็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง อันจะถือว่าไม่มีอยู่เลยในทางกฎหมาย สำหรับประเทศไทย แม้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จะไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ แต่หลักการนี้ก็เป็นที่ยอมรับจากทั้งตำรากฎหมายปกครองไทย ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุดได้นำหลักการนี้มาปรับใช้ในการวินิจฉัยคดี โดยไม่ได้ใช้คำว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะ แต่ใช้คำว่าคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงซึ่งในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองนั้น โดยได้นำมาปรับใช้ในการวินิจฉัยคดีสามกรณีด้วยกัน คือ คดีองค์การบริหารส่วนตำบลผาจุก คดีการสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอซึ่งปรากฏว่าผู้ได้รับการคัดเลือกบางรายทุจริต และกลุ่มคดีการสอบคัดเลือกเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งขัดกับมาตรฐานทั่วไปในการจัดสอบ เมื่อพิจารณาทั้งสามกรณีแล้วจะเห็นได้ถึงการพัฒนาหลักการนี้ จึงมีความน่าสนใจที่จะศึกษาว่า ข้อเท็จจริงอย่างไรที่ศาลปกครองสูงสุดจะถือว่าคำสั่งทางปกครองมีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองนั้น จากการศึกษาพบว่า กรณีการสอบแข่งขันที่พบการทุจริตในการสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโดยผู้สอบ เจ้าหน้าที่ผู้จัดสอบ ตลอดจนการจัดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนการออกข้อสอบ การตรวจข้อสอบ และการประมวลผลคะแนน โดยมีบุคคลดำเนินการเองทั้งหมดในฐานะส่วนตัว ซึ่งขัดกับมาตรฐานทั่วไปที่กำหนดให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นคัดเลือกเป็นผู้รับผิดชอบ อันเป็นการจัดสอบโดยทุจริตและผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ส่งผลให้ประกาศบัญชีผู้สอบแข่งขันได้และคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งซึ่งเป็นผลมาจากประกาศนี้เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองนั้น
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, (กรุงเทพฯ: สื่อการพิมพ์, 2540)
วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติราษฎร์, 2554)
นรินทร์ อิธิสาร, “ปัญหาการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองในระบบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองไทย: ศึกษาเปรียบเทียบมุมมองของระบบกฎหมายเยอรมัน,” 2563, เข้าถึงจาก https://admc.admincourt.go.th/02-office/office44/wp2/wp-content/uploads/2021/10/,DanaInfo=intranet2.admincourt.go.th+OA66-03-63.pdf
นฤมล ขณะรัตน์, ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหตุแห่งความเป็นโมฆะของคำสั่งทางปกครอง และการยืนยันความเป็นโมฆะของคำสั่งทางปกครองโดยศาลปกครอง, เอกสารวิชาการ
ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์, “โมฆะกรรมของคำสั่งทางปกครอง : มุมมองเชิงกฎหมายเปรียบเทียบและพัฒนาการล่าสุดในระบบกฎหมายไทย,” กฤษฎีกาสาร ปีที่ 10 ฉบับที่ 5 มิถุนายน - กรกฎาคม, 2558
กาญจนา ปัญญานนท์, อิตาลี : การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในบริษัทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่จัดสอบแข่งขัน สัญญาจ้างเป็นโมฆะ, หลักกฎหมายมหาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566, หน้า 13-16.
สุรีย์ เผ่าสุขถาวร. รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง ศาลปกครองกับการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน. (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลปกครอง, 2554)
โรม ทีปะปาล, “การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหน่วยงานทางปกครองในประเทศสเปน,” วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 17 ฉบับที่ 1.
เพลินตา ตันรังสรรค์, การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, จุลนิติ ปีที่ 16 ฉบับที่ 5 กันยายน - ตุลาคม 2562.
เพลินตา ตันรังสรรค์, การพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง : หลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...., จุลนิติ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2.
เพลินตา ตันรังสรรค์, การพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง : บทบัญญัติเพื่อสร้างเสริมความมั่นคง ประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง, จุลนิติ ปีที่ 19 ฉบับที่ 3.
วิชชา เนตรหัสนัยน์ และวรวรรณ ชลินทรวัฒน์, รายงานสรุปการเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ, สืบค้นจาก https://admc.admincourt.go.th/02.office/office82/wp/wp-content/uploads/2023/01/,DanaInfo=intranet2.admincourt.go.th+040866.pdf
Franco Bassi, Lezioni di diritto amministrativo, - 8. ed. – (Milano : A. Giuffrè, 2008).
Lucca Di Maurizio, Sulla validità del provvedimento amministrativo privo della firma, [Online], retrieved from https://www.ildirittoamministrativo.it/Sulla-validit%C3%A0-provvedimento-amministrativo-privo-della-firma-Lucca-Maurizio/gamm683#_ftn4
Luís Cabral de Moncada, “A NULIDADE DO ACTO ADMINISTRATIVO,” Jurismat : Revista Jurídica, n.º 02, 2013,. [Online], retrieved from. https://recil.ensinolusofona.pt/handle/10437/4399.
Marina D’Orsogna, La nullità del provvedimento amministrativo, in Cerulli Irelli, La disciplina generale dell’azione amministrativa, (Napoli: Jovene, 2006)
Vincenzo Cerulli Irelli, Lineamenti del diritto amministrativo, 2006, Torino : G. Giapichelli Editore