ข้อสังเกตทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ในสัญญาทางปกครอง

Main Article Content

นพรัต อุดมโชคมงคล

บทคัดย่อ

     การหักกลบลบหนี้เป็นการระงับซึ่งมูลหนี้ที่มีต่อกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ของทั้งสองฝ่าย และด้วยผลทางกฎหมายของการหักกลบลบหนี้ที่ก่อให้เกิดการหักล้างกันแห่งความเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ (Compensatio est debiti et crediti inter se contributio) อันเป็น “การระงับแห่งมูลหนี้”  ดังนั้น การหักกลบลบหนี้จึงต้องอาศัย “เจตนา” เป็นสำคัญ และเมื่อ “การแสดงเจตนาตามกระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง” มีทั้งการแสดงเจตนาที่มีคำขอให้ศาลมีคำบังคับโดยการเสนอข้อหาต่อศาลซึ่งจะต้องทำเป็นคำฟ้องหรือคำฟ้องแย้ง กับการแสดงเจตนาที่ไม่มีคำขอให้ศาลมีคำบังคับ เป็นแต่เพียงการแสดงเจตนายอมรับหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ซึ่งการแสดงเจตนาอย่างหลังนี้ไม่จำต้องทำเป็นคำฟ้อง เพียงแต่แสดงให้ศาลเห็นถึงเจตนาที่ชัดเจนก็เพียงพอแล้ว กรณีจึงมีประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การหักกลบลบหนี้ในชั้นศาลนั้น ต้องเสนอข้อหาโดยการฟ้องหรือการฟ้องแย้งโดยมีคำขอให้ศาลทำการหักกลบลบหนี้ให้แก่ตนหรือไม่ และเมื่อพิจารณาประกอบกับการหักกลบลบหนี้ในชั้นศาลตามหลักกฎหมายแพ่งอิตาลี ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนหนี้ให้แน่นอนและหักกลบลบหนี้ให้คู่กรณีที่ร้องขอได้ อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่กรณี โดยไม่จำเป็นต้องแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ เพื่อที่ในท้ายที่สุดต่างฝ่ายต่างก็ต้องนำหนี้ที่มีความชัดเจนตามคำพิพากษาในแต่ละคดีมาชำระให้แก่กัน และเพื่อแก้ปัญหาในทางวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองไทยที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการหักกลบลบหนี้ในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นกรณีอำนาจศาลในการกำหนดคำบังคับหรือค่าธรรมเนียมศาล หากไม่มีการฟ้องคดีหรือฟ้องแย้งเข้ามา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่ว่าลำพังการแสดงเจตนาว่า ต่างฝ่ายต่างมีหนี้ต่อกันย่อมเป็นการโต้แย้งความมีอยู่และจำนวนของหนี้ที่ทำให้หนี้นั้นยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้ซึ่งไม่อาจจะหักกลบลบหนี้ได้  ดังนั้น เพื่อให้ศาลปกครองสามารถพิจารณากำหนด “ความแน่นอนของจำนวนหนี้จากสัญญาทางปกครองฉบับเดียวกัน” และสามารถดำเนินการหักกลบลบหนี้ในหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ได้ ศาลปกครองชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการกำหนดประเด็นให้คู่สัญญาชี้แจงในประเด็นที่เป็นหนี้ระหว่างกัน และให้คู่กรณีแสดงความประสงค์ที่จะฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้งเข้ามาในคดีเพื่อขอให้ศาลกำหนดคำบังคับต่อไปได้ อันเป็นกรณีที่ศาลปกครองอาศัยการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดี เพื่อเปิดทางให้ศาลมีอำนาจในการเข้าไป “หักกลบลบหนี้ในชั้นศาล” เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย และยังเป็นไปตามสาระสำคัญของการหักกลบลบหนี้อีกด้วยนั่นเอง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความทางวิชาการ