การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยเพื่อออกคำสั่งเพิ่มโทษต้องใช้หลักเกณฑ์การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ. 12/2561)
Main Article Content
บทคัดย่อ
วินัยข้าราชการถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายข้าราชการ เพราะวินัยข้าราชการมีส่วนในการช่วยรักษาประสิทธิภาพของการบริหารราชการให้เป็นไปในทางเดียวกันโดยปราศจากอุปสรรคภายใน และยังมีส่วนในการช่วยคุ้มครองความมั่นคงทางอาชีพของข้าราชการมิให้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยโดยอำเภอใจ ทำให้ข้าราชการมีขวัญและกำลังใจในการทำงานภายใต้กฎหมายได้อย่างอิสระและไร้ข้อกังวลว่าจะถูกลงโทษทางวินัยได้โดยง่าย
ความรับผิดทางวินัยเกิดขึ้นได้จากความบกพร่องต่อหน้าที่ของข้าราชการ เพราะต้องยอมรับว่าข้าราชการก็ยังคงเป็นมนุษย์ธรรมดา ย่อมปฏิบัติหน้าที่ราชการผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือประมาท ซึ่งความผิดพลาดบางประการในการปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดวินัยข้าราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัย ทั้งนี้ การสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการดำเนินการทางวินัยอย่างแท้จริง เพราะกฎหมายข้าราชการส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมของคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้น โดยผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปอาจยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้น หรือจะเพิ่มโทษโดยยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมและออกคำสั่งลงโทษใหม่ที่มีความรุนแรงกว่าคำสั่งลงโทษเดิมก็ได้ แต่โดยที่คำสั่งลงโทษทางวินัยเป็นคำสั่ง
ทางปกครองอย่างหนึ่ง และกฎหมายข้าราชการโดยทั่วไปจะกำหนดเพียงแต่ว่าผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปมีอำนาจเพิ่มโทษ แต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยเดิมเพื่อออกคำสั่งเพิ่มโทษ ดังนั้น จึงต้องนำหลักเกณฑ์การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันเป็นกฎหมายทั่วไปที่ใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองมาใช้บังคับ แต่ก็มีข้อพิจารณาว่าการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยเดิมเพื่อออกคำสั่งเพิ่มโทษนั้นจะเป็นการลงโทษบุคคลสองครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 7/2557 พิพากษาไว้หรือไม่ และจะต้องใช้หลักเกณฑ์การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ให้ประโยชน์ (สร้างภาระ) หรือจะต้องใช้หลักเกณฑ์การยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ ซึ่งปัญหาดังที่กล่าวมานี้ได้รับการอธิบายไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ. 12/2561
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.