การรับฟังคู่กรณีในชั้นการพิจารณาของศาลและในชั้นการพิจารณาของฝ่ายปกครอง ในระบบกฎหมายเยอรมันเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายไทย

Main Article Content

นฤมล ขณะรัตน์

บทคัดย่อ

          ในระบบกฎหมายเยอรมันและระบบกฎหมายไทยต่างมีการรับรองและบังคับใช้หลักการรับฟังคู่กรณีโดยถือเป็นสิทธิของคู่กรณีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความที่มีความสำคัญมาก ปรากฏการปรับใช้ ทั้งในชั้นการพิจารณาคดีของศาลและในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดการประกันสิทธิให้แก่คู่กรณีในกระบวนวิธีพิจารณา ที่ทั้งศาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต่างมีหน้าที่ต้องเปิดโอกาสให้แก่คู่กรณีได้ต่อสู้ป้องกันสิทธิของตนในขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และร่วมแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีของศาล หลักการรับฟังคู่กรณีถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาข้อเท็จจริงและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เพื่อนำไปสู่การจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีที่ต้องคำนึงถึงข้ออ้างข้อเถียงของคู่กรณีอย่างรอบด้าน และเพื่อประโยชน์ในการสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ระดับการปรับใช้ในชั้นการพิจารณาของศาลจึงถึงขนาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาที่จะต้องนำมาปรับใช้อย่างเคร่งครัด ในขณะที่หลักการรับฟังคู่กรณีในชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองปรากฏการปรับใช้ในขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง แม้โดยหลักจะต้องรับฟังคู่กรณีก็ตาม แต่ก็ปรากฏข้อยกเว้นทั้งกรณีที่จะไม่จำต้องรับฟังคู่กรณีหรือไม่ก็ได้ และกรณีที่ต้องห้ามรับฟังคู่กรณีโดยเด็ดขาด ระดับการปรับใช้ในชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงไม่เคร่งครัดเช่นในชั้นการพิจารณาคดีของศาล โดยการศึกษานี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้เห็นข้อความคิดพื้นฐานและภาพรวมของการรับฟังคู่กรณี เนื้อหาหรือขอบเขตของหลักการรับฟังคู่กรณี การแก้ไขเยียวยาเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการรับฟังคู่กรณี ตลอดจนข้อสังเกตในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบในระบบกฎหมายเยอรมันและระบบกฎหมายไทย

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความทางวิชาการ