วัตถุแห่งคดีในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (Anfechtungsklage) ในระบบกฎหมายเยอรมัน ศึกษาเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายไทย

Main Article Content

นิติกร ชัยวิเศษ

บทคัดย่อ

          วัตถุแห่งคดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้กำหนดประเภทคำฟ้อง ประเด็นข้อพิพาท และคำขอให้ศาลออกคำบังคับ ซึ่งในคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น วัตถุแห่งคดีย่อมเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่ในทางปฏิบัติก็มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองก่อนฟ้องคดี ทำให้มีคำสั่งทางปกครองสองคำสั่ง คือ คำสั่งทางปกครองชั้นต้น กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เช่นนี้จะถือว่าคำสั่งทางปกครองใดเป็นวัตถุแห่งคดี ซึ่งในบทความนี้ก็ได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระบบกฎหมายเยอรมันกับระบบกฎหมายไทย โดยในระบบกฎหมายเยอรมันจะพิจารณาว่า วัตถุแห่งคดี คือ คำสั่งทางปกครองชั้นต้นที่ปรากฏตัวอยู่ในรูปของคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และพิจารณาคำสั่งทางปกครองชั้นต้นกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในฐานะวัตถุแห่งคดีอันหนึ่งอันเดียวกัน และหากฝ่ายปกครองยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องให้ฝ่ายปกครองวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ และหากพ้นเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ศาลก็จะพิจารณาพิพากษาคดีในเนื้อหาต่อไป และในระบบกฎหมายไทยก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองก่อนฟ้องคดี แต่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในระยะเวลาอันสมควรหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็มีกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้นำคำสั่งทางปกครองชั้นต้นไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และมีทั้งกรณีที่ผู้ฟ้องไม่ได้นำคำสั่งทางปกครองชั้นต้นไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และเมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งในปัจจุบันแนวคำพิพากษาศาลปกครองของไทยจะพิจารณาว่าเมื่อพ้นระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แต่หากผู้ฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ออกมาภายหลัง ศาลปกครองเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นใหม่และผู้ฟ้องคดีสามารถนำคำวินิจฉัยอุทธรณ์มาฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนได้ แม้จะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองชั้นต้นแล้วก็ตาม ซึ่งการแยกคำสั่งทางปกครองชั้นต้นกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ออกจากกัน ทำให้เกิดข้อพิจารณาในทางวิชาการว่า หากศาลรับฟ้องเฉพาะคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วศาลจะมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองชั้นต้นที่ไม่ใช่วัตถุแห่งคดีได้อย่างไร  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองชั้นต้นกับศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย เนื่องจากกฎหมายบางฉบับกำหนดให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด หากผู้ฟ้องคดีนำคำสั่งทางปกครองชั้นต้นมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น และต่อมามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลปกครองชั้นต้นและผู้ฟ้องคดีควรดำเนินการอย่างไร และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า สิทธิการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ คือ สิทธิการฟ้องคดีขอให้ฝ่ายปกครองพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ มิใช่สิทธิการฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองชั้นต้น และในการพิจารณาคดี ศาลปกครองควรพิจารณาคำสั่งทางปกครองชั้นต้นกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในฐานะวัตถุแห่งคดีที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเช่นในประเทศเยอรมนี

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความทางวิชาการ