ลักษณะการใช้อำนาจของสภาวิชาชีพ : นิติกรรมทางปกครองและนิติกรรมทางตุลาการ

Main Article Content

ภัคเดช คมสัน

บทคัดย่อ

          สภาวิชาชีพเป็นองค์กรที่ได้รับมอบภารกิจจากรัฐให้ใช้อำนาจในการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีลักษณะการใช้อำนาจที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีแนวคิดในการแบ่งแยกระหว่าง “นิติกรรมทางปกครอง” กับ “นิติกรรมทางตุลาการ” ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรฝ่ายปกครองออกจากกันอย่างเด็ดขาดและชัดเจน จึงอาจจำแนกลักษณะการใช้อำนาจของสภาวิชาชีพออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ การออกกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อใช้บังคับแก่สมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพ การออกคำสั่งเกี่ยวกับการควบคุมการเข้าสู่วิชาชีพและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ เช่น การรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ การรับรองปริญญา หลักสูตร สถาบันการศึกษา วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ มีลักษณะเป็น “นิติกรรมทางปกครอง” ส่วนการมีคำวินิจฉัยกรณีผู้ประกอบวิชาชีพกระทำการฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ มีลักษณะเป็น “นิติกรรมทางตุลาการ” ซึ่งมีเนื้อหาสาระ รูปแบบและวิธีการในการออกนิติกรรม ผลของนิติกรรม ตลอดจนกระบวนการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแตกต่างไปจากนิติกรรมทางปกครอง ในขณะที่กฎหมายไทยยังไม่มีการแบ่งแยกระหว่างนิติกรรมทางปกครองกับนิติกรรมทางตุลาการออกจากกันอย่างเด็ดขาดและชัดเจนดังเช่นในประเทศฝรั่งเศส ทำให้การใช้อำนาจของสภาวิชาชีพไม่ว่าในลักษณะใด ต่างก็อยู่ภายใต้กระบวนการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวกัน จึงอาจไม่เหมาะสมกับการใช้อำนาจในแต่ละประเภทที่มีความแตกต่างกันโดยสภาพ การศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และหลักเกณฑ์ ตลอดจนประเด็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับนิติกรรมทางปกครองและนิติกรรมทางตุลาการของประเทศฝรั่งเศส ประกอบกับแนวคิดและหลักกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว จะนำไปสู่ข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความทางวิชาการ