ชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
คำสำคัญ:
ชุมชน, การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, การจัดการท่องเที่ยววัฒนธรรมบทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “ชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก” มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมชุมชนตำบลวาเล่ย์ 2) ศึกษาปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม 3) ศึกษาศักยภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่จะนำมาเป็นฐานในการพัฒนากิจกรรม/เส้นทางท่องเที่ยวและ 4) พัฒนาศักยภาพชุมชนและหารูปแบบการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทชุมชน จนสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มาเยือน วิธีดำเนินงานวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาศักยภาพชุมชน ที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางมุ่งเสริมพลังอำนาจ ด้วยกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประชากรและกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน คณะกรรมการชุมชน ชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยใช้วิธีการแบบเจาะจงกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพ และมีความสนใจเข้าร่วมในการดำเนินการด้านการท่องเที่ยว สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) และการพรรณนาโวหาร
ผลการวิจัยพบว่า ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ “ชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก” ใช้เวทีประชุม, ความสัมพันธ์ส่วนตัว และกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงบุคคล กลุ่มคน จนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายภายใน (ผู้นำ, ปราชญ์, คนในชุมชน, ร้านค้า) และภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐ (อพท., พัฒนาชุมชนอำเภอพบพระ, วิทยาลัยชุมชนตาก, ททท.), ภาคเอกชน (ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ) และภาคประชาสังคม (เครือข่ายนักวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพชุมชนจนสามารถค้นทุนที่จะเป็นฐานในการสร้างกิจกรรม เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ตำบลวาเล่ย์ ภายใต้คำขวัญการท่องเที่ยวที่ว่า “เที่ยววาเล่ย์ ไม่ว้าเหว่แน่นอน” ในการศึกษาปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ พบว่า ชุมชนมีทุนที่เป็นศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เห็นนักท่องเที่ยวเป็นปัญหาก่อให้เกิดขยะและแย่งใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ชุมชนจึงต้องการพัฒนาศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยนำทรัพยากรในชุมชนและวีถีวัฒนธรรมชุมชนมาใช้เป็นกิจกรรม เส้นทางการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบไม่ก่อให้เกิดปัญหาให้กับคนในชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนและก่อให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่ผู้มาเยือน ในด้านศักยภาพการจัดการท่องเที่ยว ชุมชนต้องการเก็บบันทึกเรื่องราว เรื่องเล่าในชุมชน ความรู้ ทักษะในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี นักสื่อความหมายชุมชน และเชื่อมโยงวิถีชีวิตภายในชุมชนและประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นกิจกรรมเส้นทางการท่องเที่ยวให้น่าสนใจ นอกจากนี้ชุมชนยังต้องการอบรมหลักสูตรด้านอาชีพ เพื่อยกระดับสินค้าในชุมชนให้มีรูปแบบที่หลากหลายมาเป็นสินค้าของที่ระลึกทางการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อสร้างเสน่ห์ในการท่องเที่ยวของพื้นที่ตำบลวาเล่ย์อีกทางหนึ่งด้วย ในด้านศักยภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่จะนำมาเป็นฐานในการพัฒนากิจกรรม/เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม พบว่า ชุมชนมีศักยภาพความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ ไทยล้านนา ไทยอีสาน และม้ง) มีวิถีชีวิตคนเลี้ยงช้างของปกาเกอะญอ ที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน มีธรรมชาติที่สวยงามและเป็นแหล่งป่าต้นน้ำแม่น้ำเมย อากาศที่เย็นสบายและมีพื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำเมยที่มีจุดผ่อนปรนตามชุมชน ถึง 8 จุด ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมข้ามไป เพื่อเยี่ยมชมหมู่บ้านชายแดนและแสวงบุญที่ม่อนมุลาอิ ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งศักยภาพข้างต้นนำมาสู่อัตลักษณ์ของพื้นที่ที่ว่า “สัมผัสวิถีนานาชน เยือนถิ่นคนเลี้ยงช้าง” ที่จะนำไปสร้างกิจกรรม เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมตำบลวาเล่ย์ให้น่าสนใจ จากการพัฒนาศักยภาพชุมชนและหารูปแบบการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทชุมชนจนสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มาเยือนตำบลวาเล่ย์ พบว่า ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความรู้ มุมมอง ความมั่นใจในศักยภาพของตนและแนวคิดใหม่ ๆ รูปแบบการประชาสัมพันธ์และช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ที่จะนำไปพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในการทดลองการจัดการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนตื่นตัวที่จะเปิดหมู่บ้านรับการท่องเที่ยวและรู้ทิศทางในการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยว และค้นหาอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่แท้จริงของตนได้ โดยนำวิถีควาญช้างมาเป็นกิจกรรมหลัก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ใช้วิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนรอบข้าง เชื่อมโยงเส้นทางการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่นานขึ้น
References
ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ และคณะ. (2557). การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรม. พิษณุโลก : มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
ทวี สุขโข. (2559). การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านดอนข่าโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หมู่ 7 ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น. แหล่งข้อมูล: https://elibrary.trf.or.th/project_contentTRFN.asp?PJID=RDG59E0033. ค้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563.
พัชรินทร์ จึงประวัติ. (2560). ความต้องการของชุมชนในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ : กรณีศึกษาตลาดคลองสวนร้อยปี อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารการบริการและการท่องเที่ยว, (12)1,36.
ราณี อิสิชัยกุล และคณะกรรมการ. (2558). แนวทางการพัฒนามาตรฐานและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทย. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Dickman, C.R. (1996). Overview of the Impacts of Feral Cats on Australian Native Fauna. Australian Nature Conservation Agency, Canberra.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 วารสารวิชาการนอร์ทเทิร์น
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.