การพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
Main Article Content
บทคัดย่อ
การพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้นั้นจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การพัฒนากำลังคนที่เดิมถูกพัฒนาและเตรียมความพร้อมจากภาคการศึกษาจากการศึกษาในสายอาชีวศึกษา และสายอุดมศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาที่เน้นสร้างให้บุคคลมีความรู้และความสามารถที่วัดประเมินด้านเนื้อหาทางวิชาการเป็นหลัก ในขณะที่นายจ้างหรือสถานประกอบการมีความต้องการกำลังคนที่มีความรู้และทักษะที่เป็นความสามารถในการประกอบอาชีพที่วัดประเมินด้านผลลัพธ์การทำงาน (Performance outcome) ที่เรียกว่าสมรรถนะอาชีพ (Occupational competency) ซึ่งในหลายประเทศกำหนดเป็นมาตรฐานอาชีพ (Occupational standard) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินและให้เป็นคุณวุฒิอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า คุณวุฒิวิชาชีพ (Vocational Qualification) [1] ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนากำลังคนในหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษหรือประเทศสหราชอาณาจักร ที่เริ่มพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 - 1980 เพราะประเทศเริ่มประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง จากการผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศโดยให้ฝ่ายองค์การสภานายจ้างและฝ่ายอุตสาหกรรมจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า SSC (Sector Skill Council) เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานอาชีพ พัฒนาการศึกษาและฝึกอาชีพโดยให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency Based Training) ตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อบุคคลมีความสามารถตามที่สถานประกอบการต้องการ จัดตั้งหน่วยงานที่กำหนดและให้การรับรองคุณวุฒิที่เรียกว่า QCA (Qualification and Curriculum Authority) เพื่อไม่ให้เกิดคุณวุฒิมากเกินไปที่ทำให้เกิดความสับสนกับฝ่ายนายจ้าง จัดทำกรอบคุณวุฒิที่กำหนดคุณลักษณะจากฐานการทำงาน (Work Based Qualification) เพื่อให้เป็นแนวทางในการเทียบโอนความสามารถทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา มุ่งเน้นให้คุณวุฒิกับผู้ที่ทำงานหรือพนักงานฝึกหัด โดยให้มีการสอนและการประเมินผู้เรียน ให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เรียกระบบคุณวุฒินี้ว่า “คุณวุฒิวิชาชีพ” [2]
คุณวุฒิวิชาชีพในประเทศไทยเริ่มหลังจากการพื้นตัวของระบบเศรษฐกิจช่วงปี พ.ศ.2542 – 2545 ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจากการผลักดันของสภาอุตสาหกรรมในช่วงปี พ.ศ. 2546 ต่อรัฐบาลในยุคนั้น ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เพื่อทำการศึกษาและเสนอยุทธศาสตร์ยกระดับมาตรฐานฝีมือและสมรรถนะของกำลังคนที่มีอยู่ (Upgrade Existing Workplace) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้มีการเสนอแนวคิดจากประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า คุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (National Vocational Qualification : NVQ) และให้จัดตั้งหน่วยงานรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพขึ้น [3] รศ.ดร.ชนะ กสิภาร์ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ประสานงานผ่านสถานทูตของประเทศอังกฤษและออสเตรเลียเพื่อให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดความรู้และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และมีกรรมการสภาอุตสาหกรรมร่วมสนับสนุน ซึ่งต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี ในการผลักดันให้เกิด พรฎ. จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่เหมาะสมกับประเทศไทย [2]
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
ชนะ การ์สิภา. (2549). หลักการของนวัตกรรม และนวัตกรรมทางดานอาชีวศึกษาและการฝกอบรม. เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาระดับปริญญาเอก รายวิชานวัตกรรมการศึกษา.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
ธีรพงษ์ วิริยานนท์. (2549). วิทยานิพนธ์การพัฒนามาตรฐานอาชีพของผูประเมินสมรรถนะวิชาชีพตามระบบคุณวุฒิวิชาชีพ : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
คณะวิจัย. (2552). โครงการศึกษาการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพประเทศไทย : ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สภาปฏิรูปแห่งชาติ. (2558). วาระปฏิรูปพิเศษ 7 : การปฏิรูปองค์การมหาชน : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนที่ 21 ก. (2554) พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554.
เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2557. การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง. (2560) : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.
Geoff Carroll and Trevor Boutall. (2011). Guide to Developing National Occupational Standards : UK Commission for Employment and Skills.
Guideline Developing National Occupational Standards (2009) : TVET Council; BARBADOS.
เอกสารรายงานเรื่องระบบคุณวุฒิวิชาชีพนานาชาติ. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) .กรุงเทพมหานคร.